ความสับสนของชื่อต้นไม้ประจำชาติ ราชพฤกษ์
ถ้าหากเอ่ยถึงต้นชัยพฤกษ์ ในสมัยก่อนไม่เกิน ๒๐ ปี จะนึกถึงต้นไม้ที่ออกดอกในหน้าแล้ง เป็นพวงสีเหลืองไปหมดทั้งต้น สวยงามมาก ยังมีเพลงกล่าวถึงว่า...ชัยพฤกษ์ สลัดใบ ชูช่อเหลืองงามจับตา ศรีสง่า ดอนเมือง ชื่อลือเลื่อง ทัพอากาศ ........ มาถึงทุกวันนี้ต้นไม้ดอกสีเหลืองต้นเดิมนี้ถูกเปลี่ยนชื่อเรียกเป็นทางการว่า "ราชพฤกษ์" อาจเป็นเพราะมีดอกสีเหลือง เข้ากับสีประจำวันเสด็จพระราชสมภพของในหลวง จึงตั้งชื่อว่าเป็น "ต้นไม้ของในหลวง"
คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบและออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การกำหนดสัญลักษณ์ประจำชาติไทย ๓ สิ่ง ลงนามโดยพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๔ คือ
๑. สัตว์ประจำชาติไทย คือ ช้างไทย Chang Thai (Elephant : Elephas maximus)
๒. ดอกไม้ ประจำชาติ คือ ดอกราชพฤกษ์ (คูน) Rachaphruek ( Cassia fistula Linn.)
๓. สถาปัตยกรรมประจำชาติ คือ ศาลาไทย Sala Thai (Pavillon)
ในเบื้องต้น กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดประชุมเรื่อง การกำหนดต้นไม้และสัตว์ประจำชาติ ครั้งที่ ๒/๒๕๐๖ เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๐๖ และมีมติเป็นเอกฉันท์ให้กำหนดต้นราชพฤษ์หรือคูน เป็นต้นไม้ประจำชาติ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๔๔ คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ร่วมกับ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประชุมเรื่องการกำหนดเอกลักษณ์ประจำชาติไทยในเรื่องดอกไม้ประจำชาติ และได้ให้เหตุผลในการเลือกดอกราชพฤกษ์ (คูน) Ratchaphruek (Cassia fistula Linn.) เป็นดอกไม้ประจำชาติ เพื่อส่งเสริมสัญลักษณ์ประจำชาติไทย และเพิ่มประสิทธิภาพการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยให้มีผลระยะยาว ด้วยเหตุผลตามผลสรุปของการศึกษาและรวบรวมข้อมูลของกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า
๑. ราชพฤกษ์ เป็นต้นไม้พื้นเมืองที่รู้จักกันแพร่หลายสามารถขึ้นได้ทุกภาคของประเทศไทย
๒. ราชพฤกษ์ ใช้ประโยชน์ได้มากเช่นฝักเป็นสมุนไพรที่มีค่ายิ่งในตำหรับแพทย์แผนโบราณและแก่นแข็งใช้ทำเสาเรือนได้ดี
๓. ราชพฤกษ์ มีประวัติเกี่ยวข้องกับประเพณีของชาวไทยเพราะเป็นไม้ที่มีชื่อเป็นมงคลนามและอาถรรพ์ แก่นไม้ชัยพฤกษ์เคยใช้พิธีสำคัญๆ มาก่อนเช่น พิธีลงหลักเมืองใช้เป็นเสาเอกในการก่อสร้างพระตำหนัก ทำคธาจอมพลและยอดธงชัยเฉลิมพลของกองทหาร นอกจากนี้อินทรธนูของข้าราชการพลเรือนก็จำลองจากช่อชัยพฤกษ์เป็นเครื่องหมาย
๔. ราชพฤกษ์ มีอายุยืนนานและทนทาน
๕. ราชพฤกษ์ มีทรวดทรงและพุ่มงามมีดอกเหลืองอร่ามเต็มต้น เป็นสัญลักษณ์แห่งพุทธศาสนา
จากเหตุผลข้อที่ ๓ อ้างถึงชัยพฤกษ์ แทนที่จะเป็นราชพฤกษ์ จึงน่าจะสรุปได้ว่า คณะกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติยอมรับว่า ราชพฤกษ์ และชัยพฤกษ์ เป็นต้นไม้อย่างเดียวกัน
*********************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น